ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำเนิดเป็นเพียงแขนงวิชาหนึ่งของแผนกทันตแพทยศาสตร์
ซึ่งเป็นแผนกอิสระแผนกหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมี พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์
เป็นหัวหน้าแผนก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 เนื่องจากเป็นแผนกอิสระใหม่
จึงไม่มีสถานที่ทำการสอนวิชาต่าง ๆ ที่แน่นอนเหมือนของแผนกหรือคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
แขนงวิชาต่าง ๆ ของแผนกทันตแพทยศาสตร์ในขณะนั้นจึงต้องอาศัยเรียนอยู่กับคณะต่างๆสำหรับการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ได้อาศัยเรียนอยู่
กับแผนกกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทย-ศาสตร์และศิริราชพยาบาล โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์สุด
แสงวิเชียรเป็นผู้บรรยายและควบคุมการสอน และมีอาจารย์ลิ้ม จุลละพันธ์ เป็นอาจารย์ผู้ช่วยควบคุมภาคปฏิบัติการ
และเนื่องจากแผนกทันต-แพทยศาสตร์เป็นแผนกที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้นหลักสูตรการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์
จึงยังไม่ได้มีการกำหนดลงไปแน่นอนว่าควรจะสอนวิชากายวิภาคศาสตร์สาขาต่าง ๆ
มากน้อยเท่าใดจึงจะเหมาะสม การสอนวิชานี้ จึงดำเนินไปคล้ายคลึงกับการสอนนักศึกษาแพทย์ในขณะนั้น |
ต่อมาในปี
พ.ศ. 2486 ได้มีการแยกคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชกรรมศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์
ออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารวมกันตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแพทย-ศาสตร์ (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล)
แผนกทันตแพทยศาสตร์จึงมีฐานะเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2486 และมี พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นคณบดีขณะนั้นประเทศไทยเราอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่
2 ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาอาศัยอยู่ ณ ตึกทันตแพทยศาสตร์ (ตึกวาจวิทยาวัฑฒน์)
จุฬาลงกรณ์ซอย 11 (จุฬาลงกรณ์ ซอย 64) ดังนั้นคณะทันตแพทยศาสตร์จึงจำเป็นต้องย้ายไปอาศัยอยู่บนตึกรังสีวิทยา
โรงพยาบาลศิริราช ธนบุรีสำหรับการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ ก็ยังคงอาศัยแผนกกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์และ
ศิริราชพยาบาล เป็นที่เรียนอยู่ตามเดิม |
ใน วันที่
31 มีนาคม พ.ศ. 2488 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้ย้ายจากตึกรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช
มาอยู่ที่ชั้น 3 อาคาร 5 ถนนราชดำเนิน แต่การสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ขณะนั้นก็ยังคงอาศัยแผนกกายวิภาคศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลเป็นผู้สอนให้อย่างเดิม |
ต่อมานโยบายและโครงการศึกษาของคณะทันตแพทยศาสตร์ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปโดย พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ต้องการจัดให้มีแผนกกายวิภาคศาสตร์ขึ้นเองภายในคณะทันตแพทยศาสตร์ ดังนั้นในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2489 คณะทันตแพทย-ศาสตร์ได้แยกการสอนวิชาต่าง ๆ ทุกสาขาวิชาออกมาทำการสอนเองและในปีนี้เองจึงนับได้ว่าเป็นปีแรกที่คณะทันตแพทยศาสตร์ได้เริ่มทำการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์อย่างจริงจังด้วยตนเองขึ้นภายในคณะฯ การสอนวิชานี้อยู่ในความควบคุมของทันตแพทย์ ม.ร.ว. อ๊อด กฤดากร (ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร. ม.ร.ว. อ๊อด กฤดากร) ซึ่งเป็นทั้งผู้บรรยายและผู้ควบคุมการปฏิบัติการภายในห้องปฏิบัติการด้วย แต่หลักสูตรก็ยังคงคล้ายกับเมื่อครั้งอาศัยเรียนอยู่กับแผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทย-ศาสตร์และศิริราชพยาบาล และในปีนี้เองสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งคืนตึกทันต-แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ซอย 11 ให้แก่คณะฯ ทางคณะฯ จึงได้พิจารณาที่จะย้ายบรรดาแผนกการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ขั้นมูลฐาน (Basic Sciences) ทั้งหมดมาทำการสอนที่ตึกทันตแพทย-ศาสตร์ คงไว้แต่วิชาทางด้านคลินิกเท่านั้นที่ยังคงดำเนินการสอนอยู่ ณ ชั้น 3 อาคาร 5 ถนนราชดำเนินต่อไป อีกหนึ่งปีต่อมา คือปี พ.ศ. 2490 อาศัยพระราชกฤษฎีกาการจัดระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดแบ่งคณะทันตแพทยศาสตร์ออกเป็น 12 แผนก และในจำนวนนี้มีแผนกกายวิภาคศาสตร์อยู่ด้วย อีกทั้งในปีนี้เองทันตแพทย์ ม.ร.ว. อ๊อด กฤดากร ได้ย้ายไปทำการสอนวิชาสรีรวิทยาและชีวเคมี ส่วนการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์อยู่ในความควบคุมของรักษาการหัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ นายแพทย์เล็ก ณ นคร โดยมีทันตแพทย์เสงี่ยม ลิมพะสุต (ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์เสงี่ยม ลิมพะสุต) เป็นอาจารย์ผู้ช่วย การสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ขณะนั้นก็ยังคงเหมือนเดิม คือตามแนวเดิมที่อาศัยการสอนจากแผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และ ศิริราชพยาบาล แต่มาทำการสอนอยู่ ณ ตึกทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ซอย 11 เท่านั้น ส่วนบรรดาอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนวิชานี้นับว่าเลวลงกว่าเมื่อครั้งอยู่กับแผนกกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เพราะเนื่องจากการแยกออกมาทำการสอนเองอย่างกระทันหัน ประการหนึ่ง และงบประมาณของคณะทันตแพทยศาสตร์ได้รับน้อยมากอีกประการหนึ่ง จึงไม่สามารถที่จะจัดหาบรรดาอุปกรณ์ในการสอนให้ได้ครบถ้วน ต้องอาศัยหยิบยืมจากสถาบันอื่น ๆ อาทิเช่น โต๊ะชำแหละศพมีเพียง 4 โต๊ะ และเครื่องมือชำแหละศพมีเพียง 6 ชุด ซึ่งยืมจากโรงเรียนแพทย์เสนารักษ์ จังหวัดลพบุรี กล้องจุลทรรศน์มีจำนวน 5 กล้องซึ่งเป็นสมบัติเดิมของคณะทันตแพทยศาสตร์ ส่วนอาจารย์ใหญ่ที่ใช้ในการศึกษาและ glass slides ที่ใช้ในการสอน Histology และ embryology ได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และ ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2492 แผนกกายวิภาคศาสตร์ได้รับงบประมาณมาให้จัดซื้อเครื่องมือที่ใช้ในการทำ slides เพื่อการสอนวิชา Histology จึงทำให้แผนกเริ่มมีอุปกรณ์ในการสอนเพิ่มขึ้นจากเดิม |
ในปี
พ.ศ. 2496 ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์เสงี่ยม ลิมพะสุต ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกกายวิภาค-ศาสตร์เนื่องจากท่านได้มีโอกาสไปศึกษาและดูงานการสอนจากโรงเรียนทันตแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา
จึงได้เปลี่ยนแนวการสอนของภาควิชาไปจากเดิม ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับวิชาการทางทันตแพทยศาสตร์
ขณะนั้นแผนกกายวิภาคศาสตร์ทำการสอนวิชา Gross Anatomy, Histology และ Embryology |
จนปี
พ.ศ. 2509 แผนกวิชาฯ ได้จัดให้มีการสอนวิชา Neuroanatomy เพิ่มขึ้นอีกสาขาหนึ่งปี
พ.ศ. 2509 แผนกวิชากายวิภาคศาสตร์ได้ย้ายไปอยู่ตึกที่สร้างใหม่ เป็นตึกเล็ก
ๆ 2 ชั้น ใช้ชื่อว่า "ตึกกายวิภาคศาสตร์"ซึ่งต่อมาใน ปี พ.ศ. 2511
ได้รับงบประมาณต่อเติมตึกทำให้มีสถานที่ใช้เรียน ทั้งห้องปฏิบัติการ Gross
Anatomy ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นห้องปฏิบัติการของวิชา Histology และ Neuroanatomy |
ใน
ปี พ.ศ. 2515 คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้โอนจากมหาวิทยาลัยมหิดลกลับมาอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และเปลี่ยนชื่อจากแผนกกายวิภาคศาสตร์เป็นภาควิชากายวิภาคศาสตร์ แนวการสอนก็ได้เริ่มเปลี่ยนไปอีกเล็กน้อย
คือในสาขาวิชา Neuroanaomy นอกจากทำการสอนโดยอาจารย์ของภาควิชาฯ เองแล้ว ยังได้เชิญอาจารย์จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยสอนในหัวข้อของความสัมพันธ์ทางคลินิกด้วย
ทั้งนี้เพราะจุดมุ่งหมายของการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์นั้นต้องการให้ทันตแพทย์ไม่เพียงมีความรู้ด้านพื้นฐานเท่านั้น
แต่ต้องการให้นำไปประยุกต์ในด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้อีกด้วย หรืออย่างน้อยสามารถทราบหรือสงสัยโรค
ซึ่งเราทันตแพทย์ไม่มีสิทธิ์หรือไม่สามารถบำบัดได้ จะได้ทำการแนะนำหรือส่งไปให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้รักษาให้
ทั้งนี้เพราะการประกอบโรคศิลปสาขาทันตกรรมนั้น จำเป็นต้องเกี่ยวเนื่องกับร่างกายของผู้ป่วยทั้งตัว
ไม่ใช่ทำการรักษาอยู่เฉพาะแต่ในช่องปากเท่านั้น |
ในปี พ.ศ. 2517 ตึกกายวิภาคศาสตร์ก็ได้รับการต่อเติมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นห้องพักสำหรับอาจารย์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น |
ในปี
พ.ศ. 2519 ภาควิชาทันตพยาธิวิทยาได้โอนวิชา Dental Histology มาให้ภาควิชากายวิภาคศาสตร์สอน
เนื่องจากอาจารย์ของภาควิชาทันตพยาธิวิทยาผู้สอนวิชานี้ได้โอนไปอยู่คณะทันต-แพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งตามประวัติ ในปี พ.ศ. 2492 - พ.ศ. 2496 ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์เสงี่ยม
ลิมพะสุต ได้ช่วยสอนวิชา Dent Histologyและ Oral Pathology ให้กับภาควิชาทันต-พยาธิวิทยาด้วย |
ในปี พ.ศ. 2526 ภาควิชาฯ ได้เปลี่ยนชื่อวิชา Dental Histology เป็น Oral Histology เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่สอนโดยรวมเอา Histology ของโครงสร้างที่เกี่ยวข้องมารวมสอนในวิชา Oral Histology ด้วย |
ในปี พ.ศ. 2531 ทางภาควิชาฯ ได้ย้ายการสอนในห้องปฏิบัติการมาสอนที่ตึกพรีคลินิกชั้น 6 ส่วนห้องพักอาจารย์ของภาควิชาฯ ได้รับการจัดสรรให้อยู่ชั้น 5 โดยอยู่คนละครึ่งกับห้องพักของอาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา และอาจารย์ได้ย้ายมาอยู่ที่ชั้น 5 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2532 |
ในปี พ.ศ. 2538 ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ร่วมกับภาควิชาพรีคลินิกอื่น ๆ เปิดหลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขาวิชาชีววิทยาช่องปาก |
ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2545) ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ประกอบด้วยคณาจารย์ จำนวน 12 ท่าน และนักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน รับผิดชอบการสอนปริญญาบัณฑิต วิชา Gross Anatomy, Histology, Embryology, Neuroanatomy และ Oral Histology นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังได้เปิดสอนวิชา Applied Anatomy of Head & Neck,Seminar in Oral Biology, Electron Microscopy in Dentistry และ Tissue Culture in Dentistry ให้กับหลักสูตรหลังปริญญาของคณะทันตแพทยศาสตร์ ขณะนี้จึงนับได้ว่า สอนครบทุกสาขาวิชาที่ควรจะมีในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เทียบเคียงได้กับการสอนวิชากายวิภาค-ศาสตร์ในต่างประเทศที่เจริญแล้ว และแนวการสอนที่เน้นความรู้พื้นฐานเพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางทันตกรรม และการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการพัฒนาการรักษา ผู้ป่วยสืบไป |
เอกสารอ้างอิง 1. เสงี่ยม ลิมพะสุต. ประวัติแผนกวิชากายวิภาคศาสตร์. 25 ปี ทันตแพทย์ จุฬาฯ. 2. นารี บุญภิรักษ์. ภาควิชากายวิภาคศาสตร์. 50 ปี ทันตแพทย์ จุฬาฯ วิชาการทันตแพทยศาสตร์. พ.ศ. 2533 หน้า 1-4. |
รายชื่อคณาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
(ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2550) นักวิทยาศาสตร์
และพนักงานวิทยาศาสตร์ *** ปัจจุบันยังทำงานอยู่
|
![]() |